วันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ทรัพยากรป่าไม้


ป่าไม้เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์อื่น ๆ เพราะป่าไม้มีประโยชน์ทั้งการเป็นแหล่งวัตถุดิบของปัจจัยสี่ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรคสำหรับมนุษย์ และยังมีประโยชน์ในการรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม ถ้าป่าไม้ถูกทำลายลงไปมาก ๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น สัตว์ป่า ดิน น้ำ อากาศ ฯลฯ เมื่อป่าไม้ถูกทำลาย จะส่งผลไปถึงดินและแหล่งน้ำด้วย เพราะเมื่อเผาหรือถางป่าไปแล้ว พื้นดินจะโล่งขาดพืชปกคลุม เมื่อฝนตกลงมาก็จะชะล้างหน้าดินและความอุดมสมบูรณ์ของดินไป นอกจากนั้นเมื่อขาดต้นไม้คอยดูดซับน้ำไว้น้ำก็จะไหลบ่าท่วมบ้านเรือน และที่ลุ่มในฤดูน้ำหลากพอถึงฤดูแล้งก็ไม่มีน้ำซึมใต้ดินไว้หล่อเลี้ยงต้นน้ำลำธารทำให้แม่น้ำมีน้ำน้อย ส่งผลกระทบต่อมาถึงระบบเศรษฐกิจและสังคม เช่น การขาดแคลนน้ำในการการชลประทานทำให้ทำนาไม่ได้ผลขาดน้ำมาผลิตกระแสไฟฟ้า


ประโยชน์ของทรัพยากรป่าไม้
ป่าไม้มีประโยชน์มากมายต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ได้แก่.
ประโยชน์ทางตรง (Direct Benefits)
ได้แก่ ปัจจัย 4 ประการ
1. จากการนำไม้มาสร้างอาคารบ้านเรือนและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น เฟอร์นิเจอร์ กระดาษ ไม้ขีดไฟ ฟืน เป็นต้น
2. ใช้เป็นอาหารจากส่วนต่าง ๆ ของพืชและผล
3. ใช้เส้นใย ที่ได้จากเปลือกไม้และเถาวัลย์มาถักทอ เป็นเครื่องนุ่งห่ม เชือกและอื่น ๆ
4. ใช้ทำยารักษาโรคต่าง ๆ
ประโยชน์ทางอ้อม (Indirect Benefits)
1. ป่าไม้เป็นเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารเพราะต้นไม้จำนวนมากในป่าจะทำให้น้ำฝนที่ตกลงมาค่อย ๆ ซึมซับลงในดิน กลายเป็นน้ำใต้ดินซึ่งจะไหลซึมมาหล่อเลี้ยงให้แม่น้ำ ลำธารมีน้ำไหลอยู่ตลอดปี
2. ป่าไม้ทำให้เกิดความชุ่มชื้นและควบคุมสภาวะอากาศ ไอน้ำซึ่งเกิดจากการหายใจของพืช ซึ่งเกิดขึ้นอยู่มากมายในป่าทำให้อากาศเหนือป่ามีความชื้นสูงเมื่ออุณหภูมิลดต่ำลงไอน้ำเหล่านั้นก็จะกลั่นตัวกลายเป็นเมฆแล้วกลายเป็นฝนตกลงมา ทำให้บริเวณที่มีพื้นป่าไม้มีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ ฝนตกต้องตามฤดูกาลและไม่เกิดความแห้งแล้ง
3. ป่าไม้เป็นแหล่งพักผ่อนและศึกษาความรู้ บริเวณป่าไม้จะมีภูมิประเทศที่สวยงามจากธรรมชาติรวมทั้งสัตว์ป่าจึงเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจได้ดี นอกจากนั้นป่าไม้ยังเป็นที่รวมของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์จำนวนมาก จึงเป็นแหล่งให้มนุษย์ได้ศึกษาหาความรู้
4. ป่าไม้ช่วยบรรเทาความรุนแรงของลมพายุและป้องกันอุทกภัย โดยช่วยลดความเร็วของลมพายุที่พัดผ่านได้ตั้งแต่ ๑๑-๔๔ % ตามลักษณะของป่าไม้แต่ละชนิด จึงช่วยให้บ้านเมืองรอดพ้นจากวาตภัยได้ซึ่งเป็นการป้องกันและควบคุมน้ำตามแม่น้ำไม่ให้สูงขึ้นมารวดเร็วล้นฝั่งกลายเป็นอุทกภัย
5. ป่าไม้ช่วยป้องกันการกัดเซาะและพัดพาหน้าดิน จากน้ำฝนและลมพายุโดยลดแรงปะทะลงการหลุดเลือนของดินจึงเกิดขึ้นน้อย และยังเป็นการช่วยให้แม่น้ำลำธารต่าง ๆ ไม่ตื้นเขินอีกด้วย นอกจากนี้ป่าไม้จะเป็นเสมือนเครื่องกีดขวางตามธรรมชาติ จึงนับว่ามีประโยชน์ในทางยุทธศาสตร์ด้วยเช่นกัน
สาเหตุสำคัญของวิกฤตการณ์ป่าไม้ในประเทศไทย
1. การลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ตัวการของปัญหานี้คือนายทุนพ่อค้าไม้ เจ้าของโรงเลื่อย เจ้าของโรงงานแปรรูปไม้ ผู้รับสัมปทานทำไม้และชาวบ้านทั่วไป ซึ่งการตัดไม้เพื่อเอาประโยชน์จากเนื้อไม้ทั้งวิธีที่ถูกและผิดกฎหมาย ปริมาณป่าไม้ที่ถูกทำลายนี้นับวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามอัตราเพิ่มของจำนวนประชากร ยิ่งมีประชากรเพิ่มขึ้นเท่าใด ความต้องการในการใช้ไม้ก็เพิ่มมากขึ้น เช่น ใช้ไม้ในการปลูกสร้างบ้านเรือนเครื่องมือเครื่องใช้ในการเกษตรกรรมเครื่องเรือนและถ่านในการหุงต้ม เป็นต้น
2. การบุกรุกพื้นที่ป่าไม้เพื่อเข้าครอบครองที่ดิน เมื่อประชากรเพิ่มสูงขึ้น ความต้องการใช้ที่ดินเพื่อปลูกสร้างที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินก็อยู่สูงขึ้น เป็นผลผลักดันให้ราษฎรเข้าไปบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ แผ้วถางป่า หรือเผาป่าทำไร่เลื่อนลอย นอกจากนี้ยังมีนายทุนที่ดินที่จ้างวานให้ราษฎรเข้าไปทำลายป่าเพื่อจับจองที่ดินไว้ขายต่อไป
3. การส่งเสริมการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจเพื่อการส่งออก เช่น มันสำปะหลัง ปอ เป็นต้น โดยไม่ส่งเสริมการใช้ที่ดินอย่างเต็มประสิทธิภาพทั้ง ๆ ที่พื้นที่ป่าบางแห่งไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการเกษตร
4. การกำหนดแนวเขตพื้นที่ป่ากระทำไม่ชัดเจนหรือไม่กระทำเลยในหลาย ๆ พื้นที่ ทำให้ราษฎรเกิดความสับสนทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา ทำให้เกิดการพิพาทในเรื่องที่ดินทำกินและที่ดินป่าไม้อยู่ตลอดเวลาและมักเกิดการร้องเรียนต่อต้านในเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน
5. การจัดสร้างสาธารณูปโภคของรัฐ เช่น เขื่อน อ่างเก็บน้ำ เส้นทางคมนาคม การสร้างเขื่อนขวางลำน้ำจะทำให้พื้นที่เก็บน้ำหน้าเขื่อนที่อุดมสมบูรณ์ถูกตัดโค่นมาใช้ประโยชน์ ส่วนต้นไม้ขนาดเล็กหรือที่ทำการย้ายออกมาไม่ทันจะถูกน้ำท่วมยืนต้นตาย เช่น การสร้างเขื่อนรัชชประภาเพื่อกั้นคลองพระแสงอันเป็นสาขาของแม่น้ำพุมดวง-ตาปี ทำให้น้ำท่วมบริเวณป่าดงดิบซึ่งมีพันธุ์ไม้หนาแน่นประกอบด้วยสัตว์นานาชนิดนับแสนไร่ ต่อมาจึงเกิดปัญหาน้ำเน่าไหลลงลำน้ำพุมดวง
6. ไฟไหม้ป่า มักจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งอากาศแห้งและร้อนจัด ทั้งโดยธรรมชาติและจากการกระทำของมะม่วงที่อาจลักลอบเผาป่าหรือเผลอ จุดไฟทิ้งไว้โดยเฉพาะในป่าไม้เป็นจำนวนมาก
7. การทำเหมืองแร่ แหล่งแร่ที่พบในบริเวณที่มีป่าไม้ปกคลุมอยู่ มีความจำเป็นที่จะต้องเปิดหน้าดินก่อนจึงทำให้ป่าไม้ที่ขึ้นปกคลุมถูกทำลายลง เส้นทางขนย้ายแร่ในบางครั้งต้องทำลายป่าไม้ลงเป็นจำนวนมาก เพื่อสร้างถนนหนทาง การระเบิดหน้าดิน เพื่อให้ได้มาซึ่งแร่ธาตุ ส่งผลถึงการทำลายป่า
การอนุรักษ์ป่าไม้
ป่าไม้ถูกทำลายไปจำนวนมาก จึงทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศไปทั่วโลกรวมทั้งความสมดุลในแง่อื่นด้วย ดังนั้น การฟื้นฟูสภาพป่าไม้จึงต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ทั้งภาครัฐภาคเอกชนและประชาชน ซึ่งมีแนวทางในการกำหนดแนวนโยบายด้านการจัดการป่าไม้ ดังนี้
1. นโยบายด้านการกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้
2. นโยบายด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้เกี่ยวกับงานป้องกันรักษาป่าการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสันทนาการ
3. นโยบายด้านการจัดการที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรผู้ยากไร้ในท้องถิ่น
4. นโยบายด้านการพัฒนาป่าไม้ เช่น การทำไม้และการเก็บหาของป่า การปลูก และการบำรุงป่าไม้ การค้นคว้าวิจัย และด้านการอุตสาหกรรม
5. นโยบายการบริหารทั่วไปจากนโยบายดังกล่าวข้างต้นเป็นแนวทางในการพัฒนาและการจัดการทรัพยากรป่าไม้ของชาติให้ได้รับผลประโยชน์ ทั้งทางด้านการอนุรักษ์และด้านเศรษฐกิจอย่างผสมผสานกัน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสมดุลของธรรมชาติและมีทรัพยากรป่าไม้ไว้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

ที่มา : http://web.ku.ac.th/schoolnet/snet6/envi2/forest/forestn.htm

ทรัพยากรธรรมชาติ

การเพิ่มประชากรมนุษย์ทำให้ความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของมนุษย์มีมากขึ้น มนุษย์มีการนำทรัพยากรมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆมากมาย และผลจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของมนุษย์ได้ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา การใช้ทรัพยากรอย่างผิดวิธี และการใช้อย่างสิ้นเปลือง อาจทำให้ทรัพยากรที่มีคุณค่าลดน้อยลงไปอย่างรวดเร็ว
ดังนั้น เราควรมาเรียนรู้กันว่าปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติมีอะไรบ้าง สาเหตุของปัญหาคืออะไร มีแนวทางในการแก้ปัญหาและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมอย่างไร

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติกันนะคะ

ทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Resources) หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นเองหรือปรากฏอยู่ตามธรรมชาติโดยที่มนุษย์สามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต และอำนวยประโยชน์ต่อธรรมชาติด้วยกันเอง เช่น ป่าไม้ สัตว์ป่า แร่ธาตุ รวมถึงมนุษย์ เป็นต้น

ทรัพยากรธรรมชาติสามารถจำแนกออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 3 ประเภท คือ (ชัชพงศ์ ทรงสุนทรวงศ์,2546)
1. ทรัพยากรที่ใช้ไม่หมดสิ้น (Renewable Resource) แบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือ
1.1 บรรยากาศ ในบรรยากาศประกอบไปด้วยอากาศซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต นอกจากนั้นยังมีความชื้น อุณหภูมิ และการเคลื่อนไหว ของมวลอากาศ รวมเรียกว่า ภูมิอากาศ (Climate) ซึ่งมีความสำคัญต่อดิน พืชพรรณ และสภาพอื่น ๆ ของสิ่งมีชีวิตบนโลก 1.2 น้ำที่อยู่ในวัฏจักร น้ำที่อยู่ในวัฏจักรจะหมุนเวียนเปลี่ยนไป จากสภาพหนึ่งเป็นอีกสภาพหนึ่งเรื่อยไปโดยไม่มีที่สิ้นสุด เช่น จากฝน หิมะลูกเห็บ ตกลงสู่พื้นดิน บางส่วนระเหยกลับไปในอากาศทันที บางส่วนไหลซึมลึกลงไปในน้ำใต้ดินแล้วทยอยไหลลงสู่ห้วย ลำธาร บางส่วนจะไหลไปตามพื้นผิวดินลงสู่แม่น้ำ ลำคลองออกสู่ทะเล มหาสมุทร และระเหยกลายเป็นไอจับตัวเป็นก้อนเมฆ แล้วกลั่นตัวลงมาเป็นฝน การหมุนเวียนของน้ำแบบนี้ไม่มีที่สิ้นสุดหรือไม่หมดไป
2. ทรัพยากรที่เกิดขึ้นทดแทนหรือรักษาให้คงอยู่ได้ (Replaceable and Maintainable Resource) แบ่งได้เป็น 7 ชนิด คือ
2.1 น้ำที่อยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง หมายถึง น้ำที่อยู่ในที่เฉพาะแห่งที่เราเห็น และใช้กันอยู่ทุกวัน เช่นน้ำในภาชนะ เมื่อใช้แล้วก็หมดไป แต่เราสามารถที่จะหามาทดแทนใหม่ได้
2.2 ดิน หมายถึง เนื้อดินที่เป็นที่อยู่อาศัยของพืช เป็นแหล่งสะสมแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับพืช ปัจจัย 4 ของมนุษย์
2.3 ที่ดิน หมายถึง พื้นแผ่นดินมากกว่าเนื้อดินซึ่งสามารถอำนวยประโยชน์แก่มนุษย์ได้มี 2 ประการด้วยกัน ประการแรก เป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยตรงจากการดัดแปลงของมนุษย์ เช่น ที่อยู่อาศัย ที่ตั้งของเมืองต่าง ๆ ประการที่ 2 เป็นการใช้ประโยชน์ ทางอ้อม โดยใช้ประโยชน์ในรูปของการท่องเที่ยวทิวทัศน์อันสวยงามตามธรรมชาติ ซึ่งไม่ได้มีการดัดแปลงแต่อย่างใด จึงจัดที่ดินอยู่ในทรัพยากรประเภทที่สามารถรักษาให้คงอยู่ได้
2.4 ป่าไม้ ทรัพยากรป่าไม้ นับว่ามีความสำคัญมากในแง่ของการอนุรักษ์ดิน น้ำ และสัตว์ป่า ซึ่งอำนวยประโยชน์ให้มนุษย์ทั้งทางตรง และทางอ้อม เนื่องจากป่าไม้เกิดขึ้นทดแทนตามธรรมชาติหรือการปลูกให้เป็นป่าขึ้นมาใหม่ได้ ป่าไม้จึงถูกจัดอยู่ในทรัพยากร ประเภทที่ทดแทนและรักษาให้คงอยู่ได้ ถ้าหากได้มีการจัดการป่าไม้อย่างถูกต้องตามหลักวิชา
2.5 ทุ่งหญ้า หมายถึง พื้นที่ที่ส่วนใหญ่มีพืชตระกูลหญ้า และพืชพรรณอื่น ๆ ขึ้นอยู่เองตามธรรมชาติ มักเป็นที่ที่มีฝนตกน้อย เป็นที่หากินของสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า ทุ่งหญ้าจัดเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดขึ้นทดแทนและรักษาให้คงอยู่ได้เช่นเดียวกันกับป่าไม้
2.6 สัตว์ป่าที่เป็นสัตว์บกและสัตว์น้ำ สัตว์ป่าทั้งที่อยู่บนบกและในน้ำ เป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถจะเกิดลูกหลานสืบทอดกันได้ มนุษย์สามารถนำมาใช้ประโยชน์ และรักษาให้คงอยู่ได้ ถ้ารู้จักใช้ให้ถูกต้องตามหลักการอนุรักษ์
2.7 กำลังงานมนุษย์ มนุษย์เป็นทรัพยากรธรรมชาติอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ สามารถใช้กำลังงานทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจให้เป็นประโยชน์ อย่างไรก็ตามกำลังงานมนุษย์เป็นสิ่งที่สูญหายไปได้ แต่ก็สามารถรักษาให้คงอยู่ได้ หรือทำให้เกิดใหม่ ได้เช่นกัน
3. ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป (Non-renewable Resource) แบ่งเป็น 2 ชนิดคือ
3.1 แร่ธาตุ มีทั้งที่เป็นโลหะและอโลหะ เช่น เหล็ก ทองแดง ถ่านหิน ปิโตรเลียมพวกนี้เป็นทรัพยากรที่ไม่สามารถงอกเงยได้ในเวลาอันสั้นใช้ประโยชน์แล้วก็หมดสิ้นไป แต่บางชนิดอาจนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ได้
3.2 ที่ดินในสภาพธรรมชาติ ได้แก่ที่ดินที่เป็นป่าเขาห่างไกลชุมชน สมควรเก็บไว้เป็นที่ท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติ สถานที่เหล่านี้ถูกทำลาย แล้ว จะไม่สามารถสร้างขึ้นมาแทนใหม่ได้ เพราะมีคุณสมบัติเฉพาะตัวตามธรรมชาติ เช่น น้ำตก หน้าผา