วันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2552

โครงสร้างของปลายราก


โครงสร้างของปลายราก
ปลายราก ( root tip ) ประกอบด้วยบริเวณต่างๆ 4 บริเวณ เรียงลำดับจากปลายสุดขึ้นมา ดังนี้
1. บริเวณหมวกราก ( region of root cap) ประกอบด้วยเซลล์ที่เรียงตัวกันอย่างหลวมๆ ทำหน้าที่ห่อหุ้มและป้องกันอันตรายให้กับเนื้อเยื่อเจริญ เซลล์ของหมวกรากจะฉีกขาดอยู่เสมอเมื่อรากยาวขึ้นและเจริญลงไปในดิน แต่เนื้อเยื่อเจริญก็จะสร้างหมวกรากใหม่อยู่เรื่อยๆ ผนังเซลล์ด้านนอกจะมีน้ำเมือกอยู่เสมอเพื่อช่วยให้ปลายรากเจริญเติบโตลงไปในดินได้สะดวก รากของพืชบกทั่วไปจะมีหมวกรากแต่รากของพืชน้ำมักไม่ปรากฎ ยกเว้นรากของแหน
2. บริเวณเซลล์แบ่งตัว ( region of cell division ) เป็นบริเวณที่อยู่ถัดหมวกรากขึ้นไป ประกอบด้วยเนื้อเยื่อเจริญ (meristem) ที่มีเซลล์ขนาดเล็ก ผนังเซลล์บาง ภายในมีโปรโตพลาสซึมมาก มีการแบ่งตัวแบบไมโทซิส (mitosis) ตลอดเวลา ทำให้มีจำนวนเซลล์เพิ่มมากขึ้น บางส่วนจะเจริญเป็นหมวกราก บางส่วนจะเจริญเป็นเซลล์ที่มีรูปร่างยาวขึ้นอยู่ในบริเวณที่สูงถัดจากบริเวณนี้ขึ้นไป
3. บริเวณเซลล์ยืดตัว ( region of cell elongation ) เป็นกลุ่มเซลล์ที่เจริญมาจากการแบ่งเซลล์ เซลล์ในบริเวณนี้มีแวคิวโอล (vacuole) ใหญ่ ขนาดเซลล์ก็ขยายใหญ่กว่าบริเวณเซลล์แบ่งตัว โดยเฉพาะในทางความยาวจะยาวอย่างรวดเร็ว เป็นผลทำให้รากยาวขึ้น
4. บริเวณเซลล์มีการเปลี่ยนแปลงไปทำหน้าที่เฉพาะและเจริญเติบโตเต็มที่ ( region of cell diferentiation and maturation ) เซลล์บริเวณนี้เปลี่ยนแปลงรูปร่างไปต่างๆกัน ผนังเซลล์หนาขึ้น มีการแบ่งกลุ่มของเซลล์เป็นเนื้อเยื่อชนิดต่างๆได้ชัดเจน โดยผิวรอบนอกของรากจะเป็น epidermis ถัดเข้าไปเป็น cortex และ stele ในบริเวณนี้จะพบว่ารากแตกต่างจากลำต้นอย่างเด่นชัด epidermis ของรากในบริเวณนี้มีขนราก (root hair) แตกออกมาโดยรอบเพื่อทำหน้าที่ดูดน้ำและเกลือแร่จากดิน ขนรากมีอายุสั้นมาก เจริญเติบโตโดยผนังของเซลล์เอพิเดอร์มิส (epidermal cell) ยื่นยาวออกไปโดยไม่มีผนังกั้น เรียกเซลล์เอพิเดอร์มิสที่มีขนรากว่าเซลล์ขนราก (root hair cell)

1 ความคิดเห็น: