วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ประเภทของดอก


การใช้ เกณฑ์ ต่างๆ สามารถจำแนกดอกไม้ได้หลายประเภท ดังนี้

1. ใช้ เพศ เป็น เกณฑ์ จำแนกดอกไม้ได้ 2 ประเภท ได้แก่
1.1 ดอกสมบูรณ์เพศ (perfect flower) เป็นดอกที่มีชั้นเกสร เพศ ผู้ และเกสร เพศ เมียอยู่ในดอกเดียวกัน โดยส่วนประกอบอื่นๆ อาจมีหรือไม่มีก็ได้ เช่น ดอกกล้วยไม้ ดอกบัว ดอกชบา ฯลฯ
1.2 ดอกไม่สมบูรณ์เพศ (imperfect flower) เป็นดอกที่มีชั้นเกสรเพศผู้ และเกสรเพศเมียเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ส่วนประกอบอื่นๆ อาจมีหรือไม่มีก็ได้ ดอกที่มีแต่เกสรเพศผู้ เรียกว่า ดอกเพศผู้ (staminate flower) ดอกที่มีแต่เกสรเพศเมีย เรียกว่า ดอกเพศเมีย (pistillate flower) เช่น ดอกบวบ ดอกฟักทอง ดอกแตง ดอกมะพร้าว ฯลฯ

2. ใช้ส่วนประกอบต่างๆ บนฐานรองดอกเป็น เกณฑ์ จำแนกได้ 2 ประเภท ได้แก่
2.1 ดอกสมบูรณ์ (complete flower) เป็นดอกที่มีครบทั้ง 4 ส่วน คือ กลีบเลี้ยง กลีบดอก เกสรเพศผู้ และเกสรเพศเมีย เช่น ดอกชบา ดอกแค ดอกกุหลาบ ฯลฯ
2.2 ดอกไม่สมบูรณ์ (incomplete flower) เป็นดอกที่มีส่วนประกอบไม่ครบทั้ง 4 ส่วน เช่น ดอกฟักทอง ดอกแตงกวา ดอกข้าวโพด ฯลฯ

3. จำแนกโดยการติดของส่วนต่างๆ บนฐานรองดอก ซึ่งจำแนกได้ 3 ประเภท ได้แก่
3.1 ดอกไฮโพจีนัส (hypogenous flower) เป็นชนิดของดอก ที่กลีบเลี้ยง กลีบดอกและเกสรเพศ ผู้ ติดอยู่บนฐานรองดอกที่ต่ำกว่ารังไข่ของเกสรเพศเมีย รังไข่แบบนี้เรียกว่า Superior-ovary ได้แก่ ดอกมะเขือ พริก มะละกอ หอม องุ่น บานบุรี ข้าวโพด ผักกาด ฯลฯ
3.2 ดอกเอพิจีนัส (epigenous flower)เป็น ชนิดของดอก ที่กลีบเลี้ยง กลีบดอก และเกสรเพศผู้ ติดอยู่บนฐานรองดอก ที่สูงกว่ารังไข่ ของเกสรเพศเมีย เนื่องจากฐานรองดอกมีขอบโค้งขึ้นไปหุ้มรังไข่ไว้หมด รังไข่แบบนี้เรียกว่า Inferior ovary ได้แก่ ดอกกล้วย แตงกวา บวบ ชมพู่ ฝรั่ง ฟักทอง กระบองเพชร แอปเปิล ฯลฯ
3.3 ดอกเพริจีนัส (perigenous flower) เป็นชนิดของดอก ที่กลีบเลี้ยง กลีบดอกและเกสรเพศผู้ ติดอยู่บนฐานรองดอกในระดับเดียวกับรังไข่ของเกสรเพศเมียเนื่องจากฐานรองดอกเว้าลงไปและมีขอบโค้งเป็นรูปถ้วยอยู่รอบรังไข่ รังไข่แบบนี้เรียกว่า Half-superior หรือ Half-inferior ovary ได้แก่ ดอกกุหลาบ ถั่วตะแบก อินทนิน เชอรี่ ฯลฯ

4. จำแนกตามจำนวนดอกที่ติดอยู่บนก้านดอก จำแนกได้ 2 ประเภท ได้แก่
4.1 ดอกเดี่ยว (solitary flower) หมายถึง ดอกที่อยู่บนก้านดอกเพียงดอกเดียว ดอกอาจเกิดที่ปลายกิ่ง หรือลำต้น ตรงบริเวณซอกใบ หรือด้านข้างของกิ่ง เช่น ฟักทอง จำปี ชบา บัว การะเวก
4.2 ดอกช่อ (inflorescence flower) หมายถึง ดอกที่ประกอบด้วยดอกหลายดอกอยู่บนก้านชูดอก (peduncle)เดียวกัน (ดอกย่อยเรียกว่า floret, ก้านดอกย่อยเรียกว่า pedicle แกนกลาง ต่อจากก้านดอก ซึ่งดอกย่อยแยกออกมา เรียกว่า rachis) จำแนกเป็นชนิดย่อยได้ ดังนี้
4.2.1 raceme เป็นช่อดอก ที่มีดอกย่อยเกิดบน rachis โดยดอกแก่อยู่ล่างสุด ดอกอ่อนอยู่บน ดอกล่างสุดจะบานก่อนแล้วดอกอื่นๆ ที่อยู่ถัดขึ้นไปจะบานตามต่อมา pedicel ของดอกย่อยแต่ละดอกยาวเท่าๆ กัน เช่น ดอกหางนกยูง ผักตบชวา กล้วยไม้ พริก เป็นต้น
4.2.2 spike เป็นช่อดอกชนิดเดียวกับ raceme แต่ดอกย่อยทุกดอกไม่มี pedicel ติดอยู่บน rachis เช่น มะพร้าว สับปะรด กระถินณรงค์ เป็นต้น
4.2.3 umbel เป็นดอกช่อที่ก้านดอกย่อยยาวเท่าๆ กัน และแยกออกมาจากจุดเดียวกัน ทำให้ดอกมีลักษณะคล้ายร่ม เช่น ดอกพลับพลึง ดอกหอม ดอกกุยช่าย ว่านมหาลาภ เป็นต้น
4.2.4 head เป็นช่อดอกที่มี rachis เป็นแผ่น ตรงกลางนูนขึ้นเล็กน้อย ดอกย่อยจะติดอยู่บนส่วนที่นูนขึ้นมานี้ ดอกย่อยส่วนมากไม่มี pedicel หรือมี pedicel สั้นมาก มีวงประดับอยู่ที่ฐานของช่อดอก บางชนิดจะมีวงใบประดับที่โคนของดอกย่อยแต่ละดอกอีกด้วย เช่น ดอกทานตะวัน ดอกดาวเรือง ดอกบานชื่น ดอกบานไม่รู้โรย เป็นต้น
4.2.5 cyme เป็นช่อดอกที่ช่อหนึ่งจะมีดอกย่อยอยู่ 3ดอก โดยมี pedicel ออกมาจากปลายของ peduncle ที่จุดเดียวกัน ดอกที่อยู่ตรงกลางจะบานก่อนดอกที่อยู่รอบข้าง เช่น ดอกมะลิลา ดอกต้อยติ่ง










โครงสร้างของดอก



ดอกไม้ทั่วไปประกอบด้วยระยางค์ต่างๆ 4 ส่วน แต่ละส่วนจะเรียงเป็นชั้นเป็นวง เรียงตามลำดับจากนอกสุดเข้าสู่ด้านในคือ

1. กลีบเลี้ยง (Sepal) เป็นส่วนของดอกที่อยู่นอกสุด เจริญเปลี่ยนแปลงมาจากใบ จึงมักมีสีเขียว ทำหน้าที่ห่อหุ้มป้องกันอันตรายต่างๆ ให้แก่ส่วนในของดอก นอกจากนี้จะช่วยในการสังเคราะห์แสงได้ด้วย กลีบเลี้ยงของพืชอาจอยู่แยกกันเป็นกลีบๆ เรียกว่า อะโปเซพัลลัส (Asoposepalous) หรือพอลิเซพัลลัส (Polysepalous) ได้แก่ กลีบเลี้ยงของดอกบัวสาย และดอกพุทธรักษา แต่บางชนิดกลีบเลี้ยงจะเชื่อมติดกันเรียกว่า แกมโมเซพัลลัส (Gamosepalous) หรือ ซินเซพัลลัส (Synsepalous) ได้แก่ กลีบเลี้ยงของดอกชบา แตง บานบุรี และดอกแค เป็นต้น วงกลีบเลี้ยงทั้งหมดนี้เรียกว่า แคลิกซ์ (Calyx)

ในพืชบางชนิดกลีบเลี้ยงมีสีต่างๆ นอกจากสีเขียวเรียกว่า เพทัลลอยด์ (Petaloid) ทำหน้าที่ช่วยล่อแมลงในการผสมเกสร เช่นเดียวกับกลีบดอก นอกจากนี้ในดอกชบา และดอกพู่ระหงจะมี ริ้วประดับ (Epicalyx) เป็นกลีบเลี้ยงเล็กๆ ใกล้กลีบเลี้ยง

2. กลีบดอก (Petal) เป็นส่วนของดอกที่อยู่ถัดจากกลีบเลี้ยงเข้าไปข้างใน มักมีสีสันต่างๆ สวยงาม เนื่องจากมีรงควัตถุชนิดต่างๆ ได้แก่ แอนโทไซยานิน (Anthocyanin) และแอนโทแซนทิน (Anthoxanthin) ละลายอยู่ในสารละลายแวคิวโอล ทำให้กลีบดอกเป็นสีต่างๆ เช่น สีม่วง สีแดง สีน้ำเงิน หรืออาจมีแคโรทีนอยด์ (Carotenoid) ในพลาสติด ทำให้กลีบดอกเป็นสีเหลือง หรือแสด ส่วนดอกสีขาวและไม่มีสีเกิดจากไม่มีรงควัตถุอยู่ภายในเซลล์ของกลีบดอก นอกจากนี้กลีบดอกของพืชบางชนิด อาทิเช่น ดอกพุดตาลสามารถเปลี่ยนสีได้ ทั้งนี้เนื่องจากความเป็นกรดและด่างภายในเซลล์ของกลีบดอกเปลี่ยนแปลงไป วงของกลีบดอกทั้งหมดเรียกว่า collora

ทั้งกลีบเลี้ยงและกลีบดอกจัดเป็นส่วนประกอบรอง (Acessory part) ห่อหุ้มอยู่รอบนอกของดอก พืชบางชนิดกลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีลักษณะเหมือนกัน แยกกันไม่ออกเรียกชั้นนี้ว่า วงกลีบรวม (Perianth) กลีบแต่ละกลีบเรียกว่า ทีพัล (Tepal) ได้แก่ บัวหลวง จำปี และจำปา เป็นต้น

3. เกสรตัวผู้ (Stamen) เป็นส่วนของดอกที่จำเป็นในการสืบพันธุ์ อยู่ถัดจากกลีบดอกเข้าไป ทำหน้าที่สร้างเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ เกสรตัวผู้มักมีหลายอันเรียงเป็นชั้นหรือเป็นวงเรียกว่าแอนดรีเซียม (Andrecium) เกสรตัวผู้แต่ละอันอาจอยู่แยกกัน หรือเชื่อมติดกัน บางชนิดอาจติดกับส่วนอื่นของดอกก็ได้ เกสรตัวผู้แต่ละอันจะประกอบขึ้นด้วย ก้านเกสรตัวผู้ (Filament) และ อับเรณู (Anther) ซึ่งมีลักษณะเป็นถุงมี 2 พู ภายในแบ่งเป็นถุงเล็กๆ ยาว 4 ถุงเรียกว่า ถุงเรณู (Pollen sac หรือ Microsporangium) จะบรรจุละอองเรณู (Pollen grain) จำนวนมาก ทำหน้าที่เป็นเซลล์สืบพันธุ์ตัวผู้ เมื่อดอกเจริญเต็มที่แล้ว ถุงเรณูจะแตกออก ละอองเรณูจะปลิวออกมา จำนวนเกสรตัวผู้ในแต่ละดอกจะแตกต่างกันไปตามชนิดของพืช พืชโบราณมักมีเกสรตัวผู้จำนวนมากในขณะที่พืชซึ่งมีวิวัฒนาการสูงขึ้น จำนวนเกสรตัวผู้ในดอกจะลดน้อยลง อนึ่งเกสรตัวผู้ของพืชบางชนิดอาจเป็นหมัน จึงไม่สามารถสร้างเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ หรือละอองเรณูได้เรียกว่า สตามิโนด (Staminode) ตัวอย่างเช่น เกสรบางอันของกล้วย และชงโค บางชนิดอาจมีสีสันสวยงามแผ่เป็นแผ่นแบน คล้ายกลีบดอกเรียกว่า เพทัลลอยด์สตามิโนด (Petaloid staminode) เช่น พุทธรักษา

4. เกสรตัวเมีย (Pistil or carpel) เป็นส่วนของดอกที่อยู่ในสุด และจำเป็นในการสืบพันธุ์ ทำหน้าที่สร้างเซลล์สืบพันธุ์เพศเมีย เกสรตัวเมียในแต่ละดอกอาจมี 1 หรือหลายอันซึ่งแยกจากกันเป็นอิสระ หรือเชื่อมติดกัน ชั้นของเกสรตัวเมียเรียกว่า จินนีเซียม (Gymnoecium) เกสรตัวเมียแต่ละอันประกอบด้วยส่วนที่สำคัญ 3 ส่วน คือ
1) รังไข่ (Ovary) เป็นส่วนที่พองโตออกเป็นกระพุ้ง
2) ก้านชูเกสรตัวเมีย (Style) เป็นเส้นเรียวยาวเล็กๆ ทำหน้าที่ชูเกสรตัวเมีย และเป็นทางผ่านของหลอดละอองเรณู (Pollen tube)
3) ยอดเกสรตัวเมีย (Stigma) อยู่ส่วนปลายของละอองเรณูซึ่งมักพองออกเป็นปมมีขนหรือน้ำเหนียวๆ สำหรับจับละอองเรณูที่ปลิวมา หรือพาหะพามา

ดอกบางชนิดไม่มีก้านเกสรตัวเมีย ยอดเกสรตัวเมียจะติดกับด้านบนของรังไข่โดยตรง เช่น ดอกมังคุด เป็นต้น

ภายในรังไข่แต่ละอันจะมีโอวุล (Ovule) 1 หรือหลายอัน แต่ละโอวุลจะมีไข่ (Egg) ซึ่งเมื่อผสมกับสเปิร์ม (Sperm) แล้วจะกลายเป็นไซโกต (Zygote) และมีการเจริญเติบโตพัฒนาต่อไปเป็นเอมบริโอ (Embryo) หรือต้นอ่อน ส่วนโอวุลจะเจริญไปเป็นเมล็ดห่อหุ้มเอมบริโอไว้ โอวุลจะติดกับผนังรังไข่ด้วยก้านเล็กๆ เรียกว่า ฟันนิคูลัส (Funiculus) ผนังของรังไข่ตรงที่ฟันนิคูลัสมาเกาะมักพองโตเล็กน้อยเรียกว่า รก (Placenta)

ฐานรองดอก (Receptacle) เป็นส่วนปลายสุดของก้านดอก เปลี่ยนสภาพมาจากกิ่งเพื่อรองรับส่วนต่างๆ ของดอก มีรูปร่างแตกต่างกันไปหลายแบบ อาทิเช่น แผ่แบนคล้ายจาน เช่น ทานตะวันเว้าเป็นรูปถ้วย เช่น กุหลาบ นูนสูง เช่น สตรอเบอรี่ เป็นต้น

ริ้วประดับ (Bract) เป็นใบที่เปลี่ยนแปลงไปทำหน้าที่ช่วยรองรับดอก หรือช่อดอก อยู่บริเวณโคนก้านดอก มักมีสีเขียว มีรูปร่างต่างๆ เช่น คล้ายใบที่ลดขนาดลง หรือเปลี่ยนมาเป็นริ้วเล็กๆ ในดอกชบา พู่ระหง ริ้วประดับมีสีเขียวคล้ายกลีบเลี้ยงเล็กๆ เรียกว่า เอพิแคลิกซ์ (Epicalyx) ริ้วประดับของดอกทานตะวันเป็นใบเล็กๆ ซ้อนอยู่เป็นชั้นๆ บางครั้งริ้วประดับอาจมีสีฉูดฉาดสวยงามคล้ายกลีบดอก เช่น เฟื่องฟ้า คริสต์มาส ในพืชใบเลี้ยงเดี่ยวบางชนิดริ้วประดับแผ่เป็นแผ่นใหญ่แผ่นเดียว อาจมีสีสันสวยงาม เช่น ดอกหน้าวัว อุตพิต หรือกาบปลีกล้วย มะพร้าว และหมาก เป็นต้น

วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2552

แหล่งเกิดการสังเคราะห์ด้วยแสง

คลอโรพลาสต์เป็นแหล่งเกิดกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืชมีมากที่ชั้น mesophyll ของใบพืช มีรูปร่างกลมหรือกลมรี ยาว 5 ไมโครเมตร กว้าง 2 ไมโครเมตร หนา 1-2 ไมโครเมตร ภายในมีสารสีและเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาการสังเคราะห์ด้วยแสง นักเรียนสามารถศึกษาโครงสร้างของคลอโรพลาสต์ จากลิงก์ต่อไปนี้นะคะ

http://www.biology.iupui.edu/biocourses/N100/images/ch9chloroplast.jpg

http://micro.magnet.fsu.edu/cells/chloroplasts/images/chloroplastsfigure1.jpg

วันอังคารที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2552

การสืบพันธุ์ของพืชดอกและการตอบสนองของพืช

ใกล้สอบปลายภาคแล้ว มีเรื่องที่ยังไม่ได้นำมาฝากนักเรียน 2 เรื่อง คือการสืบพันธุ์ของพืชดอกและการตอบสนองของพืช
ทั้งสองเรื่องนักเรียนมีพื้นฐานแล้วมาจากช่วงชั้นที่ 3(มัธยมศึกษาตอนต้น) ในช่วงชั้นที่ 4 จะมีรายละเอียดเพิ่มขึ้นจากเดิม
มากอยู่ ลองศึกษาจาก presentation ในเว็บต่อไปนี้นะคะ

การสืบพันธุ์ของพืชดอก http://www.pm.ac.th/benjawan/reproduction.ppt

การตอบสนองของพืช http://www.pm.ac.th/benjawan/response.ppt

นักเรียนควรตอบคำถามประกอบเนื้อหาในแบบเรียนให้ครบถ้วนนะคะ เพื่อตรวจสอบความรู้ความเข้าใจในบทเรียนด้วยตนเองด้วยตัวเอง

วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2552

การสังเคราะห์ด้วยแสง (อีกครั้ง)

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ หลังจากศึกษากระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงด้วย video แล้ว เข้าใจเรื่องราวเกี่ยวกับกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงมากขึ้นไหม เหตุที่ครูใช้สื่อ video ที่เป็นภาษาต่างประเทศก็เพราะสื่อประเภทนี้ที่เป็นภาษาไทยหายากค่ะ และครูไม่ชำนาญด้านการผลิตสื่อประเภทนี้เอง จึงพยายามหาและรวบรวมสื่อดีๆ มาให้นักเรียนได้ศึกษาเพิ่มเติมซึ่งสามารถศึกษาได้ทุกเวลาที่นักเรียนอยู่ในโลกไซเบอร์ เป็นการฝึกทักษะการฟังภาษาอังกฤษไปด้วยไงคะ

หากมีข้อสงสัยฝากคำถามในส่วนแสดงความคิดเห็นในบล็อกหรือส่ง mailไปที่ pa_pu@hotmail.com ได้ค่ะ

วันนี้มาเรียนรู้เรื่องการสังเคราะห์ด้วยแสง (Photosynthesis) จากผลงานของคุณครูโรงเรียนพิมายวิทยากันบ้างนะคะ เริ่มตั้งแต่ประวัติการค้นคว้าเกี่ยวกับกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงจนถึงการปรับตัวของพืชเพื่อรับแสงกันเลย ครูคิดว่าน่าจะช่วยให้นักเรียนสามารถสรุปองค์ความรู้ทั้งหมดเกี่ยวกับการสังเคราะห์ด้วยแสงได้เป็นอย่างดี
ตามไปดูเลยค่ะ.....http://www.pm.ac.th/ebook/pdf/bio_pdf/photosynthesis.pdf

ถ้าภาษาอังกฤษไม่เป็นอุปสรรคของการเรียนรู้ มาดูสรุปจากเว็บข้างล่างนี้กันอีกนะคะ

http://www.uic.edu/classes/bios/bios100/lectures/ps01.htm

Photosynthesis in music

หลังจากนักเรียนได้เรียนเกี่ยวกับกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงแล้ว ลองมาทบทวนด้วยเพลง Photosynthesis กันนะคะ
ดูกันหลายๆรอบ เพื่อจะทำความเข้าใจในบางช่วงบางตอนที่ดูไม่ทันในรอบแรกๆ ขอให้มีความสุขกับเสียงเพลงนะคะ


วันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2552

การสังเคราะห์ด้วยแสง(Photosynthesis)

การสังเคราะห์ด้วยแสงเป็นกระบวนการสร้างสารอินทรีย์ประเภทคาร์โบไฮเดรตโดยอาศัยพลังงานจากแสงของพืช สาหร่าย ไซยาโนแบคทีเรีย และแบคทีเรียบางชนิด นักเรียนสามารถศึกษาจากเว็บไซต์ต่อไปนี้นะคะ

http://www.rmutphysics.com/charud/scibook/bio1/Chapter8/main.html

http://web.agri.cmu.ac.th/hort/course/359311/PPHY4_photosyn.htm

http://www.il.mahidol.ac.th/e-media/photosynthesis/

แต่ถ้าต้องการดู animation ของเรื่องการสังเคราะห์ด้วยแสงก็ลองดูบทความที่ครูแสดงไว้เมื่อเดือนมิถุนายนนะคะ

วันพุธที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2552

โครงสร้างและหน้าที่ของใบ

วันนี้ครูมีเว็บไซต์ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างและหน้าที่ของใบมาฝาก สามารถใช้ประกอบการเรียนในห้องเรียน หรือทบทวนก่อนสอบได้เป็นอย่างดี click ดูได้เลยค่ะ

http://www.nana-bio.com/e-learning/plant%20organ/leaf.htm

http://kruwasana.info/leaves.html

ส่วนเว็บไซต์ข้างล่างนี้ เสริมความรู้เกี่ยวกับพืชกินแมลง
โดยเฉพาะส่วนที่เป็นบทความวิชาการ และ จากทางบ้าน นักเรียนไม่ควรพลาด!!!!!!!
http://www.neofarmthailand.com/


เว็บข้างล่างนี้ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาเรื่องใบนะคะ แต่เป็นของขวัญให้ "แม่" จากลูกสาวคนเล็กของครู เนื่องในโอกาส "วันแม่" ปี 2552 นี้.....และวันนี้ก็เป็น "วันแม่" พอดี จึงนำมาเผยแพร่ให้ดูเพื่อให้นักเรียนได้ระลึกถึง "พระคุณของแม่" ...หาโอกาสทำสิ่งดีๆ เพื่อให้แม่มีความสุขกันนะคะ

http://www.youtube.com/watch?v=66D2ABaL2V0&feature=player_embedded



วันอังคารที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เคยเห็นพืชกินแมลงเหล่านี้บ้างไหม


หยาดน้ำค้าง


สาหร่ายข้าวเหนียว


กาบหอยแครง


หม้อข้าวหม้อแกงลิง


มณีเทวา


ดุสิตา




มารู้จักพืชกินแมลงกันเถอะ

เป็นที่ทราบกันดีว่าพืชเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความพิเศษแตกต่างไปจากสัตว์โดยทั่วไปคือการดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องกินสิ่งมีชิวิตอื่นเป็นอาหาร ด้วยเหตุผลที่ว่าพืชสามารถสร้างอาหารได้เองโดยกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง (Photosynthesis) อาหารที่พืชสร้างขึ้นเป็นคาร์โบไฮเดรตซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของร่างกาย แต่นักเรียนทราบหรือไม่ว่าพืชบางกลุ่มมีความสามารถพิเศษในการจับสัตว์กินเป็นอาหาร ซึ่งจะทำให้พืชได้รับสารอาหารเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะโปรตีน และสัตว์โชคร้ายเหล่านั้นส่วนใหญ่มักเป็นแมลง(Insect) เราจึงเรียกพืชเหล่านี้ว่า พืชกินแมลง ส่วนที่ใช้ดักจับแมลงของพืชคือใบที่เปลี่ยนแปลงไปทำหน้าที่พิเศษที่นอกเหนือจากการสร้างอาหารนั่นเอง

นักเรียนรู้จักพืชกินแมลงชนิดใดบ้างไหมคะ มาดูกันหน่อยว่ามีอะไรบ้าง

1. ดุสิตา ชื่อวิทยาศาสตร์ Utricularia delphinioides Thor.ex Pell. ชื่อวงศ์ LENTIBULARIACEAE เป็นพืชล้มลุกกินแมลง ลำต้นขึ้นเป็นกอเล็ก สูง 10-20 ซม.สูงเต็มที่ไม่เกิน 25 ซม.อายุปีเดียว ใบเดี่ยวขนาดเล็ก ที่ข้อใกล้โคนต้นมีเส้นกลางใบ 1 เส้น พอได้ระยะหนึ่งจะมีใบเปลี่ยนเป็นม้วนกลมสำหรับเป็นกับดักจับแมลงเป็นอาหารหรือปุ๋ย ดอก สีม่วงเข้ม เป็นช่อดอกช่อเดียวแทงขึ้นจากโคนกอ ช่อดอกตั้งสูงประมาณ 5-20 ซม.แต่ละดอกมีดอกย่อย 3-5 ดอก ดอกย่อยออกเรียงสลับกัน ขนาดประมาณ 6-10 มม. กลีบดอกล่างแผ่ออกเป็น 2 ปาก ออกดอกช่วงเดือน กันยายนถึงธันวาคมผล เป็นผลแห้งชนิดแตกเมื่อแก่ รูปทรงรีคล้ายกับแคปซูล ด้านในมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก การขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและยกกอ พบที่อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย ในประเทศไทยพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ขึ้นตามบริเวณพื้นที่โล่ง สภาพดินชุ่มชื้นและแฉะ

2. มณีเทวา หรือ กระดุมเงิน ชื่อวิทยาศาสตร์ Eriocaulon smitinandii Moldenke เป็นไม้ล้มลุก ในวงศ์ ERIOCAULACEAE ลักษณะต้นเป็นกอขนาดเล็ก คล้ายหญ้าสูง 2-6 ซม. ใบเดี่ยว ขนาดเล็ก รูปขอบขนานแคบ เรียวแหลม เรียงเวียนเป็นวงที่โคนต้น ดอกสีขาว ออกเป็นช่อตั้งจากโคนกอ สูง 5-15 ซม. ที่ปลายยอดลักษณะเป็นก้อนกลม ขนาด0.3-0.8 ซม. ประกอบด้วยดอกย่อยขนาดเล็ก อัดกันแน่น ผล เป็นผลแห้ง ชนิดเมื่อแก่แล้วไม่แตก ในประเทศไทยพบตามบริเวณที่ชุ่มชื้นและแฉะ ในที่โล่งหรือชายป่าโปร่ง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ออกดอกในช่วงเดือน กันยายน- ธันวาคม

3. หม้อข้าวหม้อแกงลิง ชื่อวิทยาศาสตร์ Nepenthes mirabilis อยู่ในวงศ์ NEPENTHACEAE ลักษณะลำต้น มักขึ้นอยู่รวมกันเป็นกอหนาแน่น หรือถ้าเป็นต้นอ่อนจะขึ้นอยู่โดดเดี่ยว ลำต้นอาจเลื่อยไปตามพื้นดิน หรือเกาะไม้พุ่มขนาดเล็ก ใบเดี่ยว ยาว 12-18 เซนติเมตร ปลายใบเป็นกระเปาะคล้ายเยือก ยาว 10-15 เซนติเมตร กระเปาะเมื่อยังอ่อนฝาจะปิด เมื่อกระเปาะแก่ฝาจะเปิด กระเปาะมีหลายสี เช่น สีเขียว สีน้ำตาลอมแดง และสีเขียวปนแดงเรื่อๆ ภายในกระเปาะมีขนป้องกันแมลงที่ตกเข้าไป ไม่ให้ออกได้ อีกทั้งผิวกระเปาะยังมีรูเล็กๆจำนวนมากปล่อยน้ำย่อยออกมาขังไว้ในกระเปาะ เพื่อย่อยสลายแมลงเป็นอาหาร ดอก ออกเป็นช่อตามส่วนยอดของลำต้น ก้านช่อดอกยาว 50-100 เซนติเมตร ดอกเพศผู้และเพศเมียแยกอยู่กันคนละต้น จะออกดอกระหว่างเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม ลักษณะผล เป็นฝักที่มีเมล็ดเป็นจำนวนมากอยู่ภายใน ในไทยประเทศไทยส่วนใหญ่สามารถพบตามภูเขาหรือที่ราบลุ่มที่มีความชื้นพอประมาณ พบทั่วทุกภาค

4. กาบหอยแครง อาจเรียกแตกต่างกันตามท้องถิ่น เช่น ว่านกาบหอยแครง หรือ ว่านชักมดลูก ชื่อวิทยาศาสตร์ Tradescantia spathacea Sw. อยู่ในวงศ์ COMMELENACEAE เป็นพืชที่เจริญได้ดีในเขตร้อน เป็นไม้อวบน้ำ ลำต้นเจริญเป็นพุ่มสูง 20-60 ซม. ใบเดี่ยวออกเรียงสลับเป็นกาบหุ้มรอบต้น รูปใบคล้ายหอก ปลายแหลมโคนตัด ขอบใบเรียบ ยาว 15-45 ซม. แผ่นใบหนา ด้านบนสีเขียวเข้ม ใต้ใบสีม่วงแดง ไม่มีก้านใบ ดอกเป็นช่อดอกที่ซอกใบ มีใบประดับสีม่วงอมเขียว 2 อันประกอบกัน ลักษณะคล้ายเรือ ชอบแสงปานกลาง ทนแสงแดดจัด และทนแล้งได้ดี ใช้ประโยชน์โดยปลูกพืชคลุมดิน และใช้เป็นยาสมุนไพร โดยนำมาต้มปรุงเป็นยารักษาโรค ขยายพันธุ์โดยการปักชำ และแยกหน่อ
กาบหอยแครงเป็นพืชกินแมลงที่คนรู้จักมากที่สุดเพราะมีกับดักที่สามารถงับแมลงได้อย่างว่องไว บางทีก็ถูกเรียกเป็นเพชฌฆาตจอมโหด พิสูจน์ได้จากคลิปนี้ http://atcloud.com/stories/26702

5. หยาดน้ำค้าง เป็นพืชล้มลุกในวงศ์ CROSERACEAE ขนาดเล็ก ลักษณะของลำต้นจะขึ้นแนบตามพื้นดิน ใบเดี่ยว เป็นแผ่นรูปมนรี กว้าง 4 เซนติเมตร อัดกันแน่นเรียงซ้อนกันเป็นรูปวงกลมอวบอ้วน คล้ายกลีบดอกซ้อนกัน หนา 1.5-3 ซม. ใบอ่อนมีสีเขียว แผ่นใบเรียบจะมีขนเล็กๆ สีแดงตามขอบใบจำนวนมาก ส่วนปลายใบจะมีน้ำหวานเหนียวๆ คล้ายกาวหยดเล็กๆ ไว้ดักจับแมลงเป็นอาหาร ดอก ออกเป็นช่อจากใจกลางของลำต้น เมื่อโตเต็มที่ดอกจะกว้าง 6 นิ้ว ยาว 5-15 ซม. ดอกจะบานสะพรั่งช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม ขยายพันธุ์โดย เพาะเมล็ด ปักชำกิ่ง ชอบดินร่วน ชอบขึ้นบริเวณทุ่งโล่งที่มีแสงแดดจัด ตามภูเขา ลานหินทราย ที่มีน้ำชื้นแฉะบริเวณริมธาร มักพบเห็นอยู่ทั่วไป แหล่งที่พบมากที่สุดในไทย คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในประเทศไทยพบหยาดน้ำค้างอยู่ 3 ชนิดคือ จอกบ่วาย (Drosera burmannii Vahl), หญ้าน้ำค้าง (Drosera indica L.) และ หญ้าไฟตะกาด (Drosera peltata Sm.)

6. สาหร่ายข้าวเหนียว อาจเรียกแตกต่างกันตามท้องถิ่น เช่น กาแหนเครือ, สายตีนกุ้ง, สาลี, สาหร่ายไข่ปู, สาหร่ายดอกเหลือง, สาหร่ายตีนกุ้ง, สาหร่ายนา และแหนเครือ ชื่อวิทยาศาสตร์ Utricularia aurea Lour. ลักษณะลำต้น เป็นไม้ล้มลุกจำพวกพืชน้ำ ลำต้นลอยอยู่ในน้ำ เป็นรูปอวบกลม สูง 10-15 ซม. และทอดยาวได้ถึง 1 เมตร รวมทั้งแตกแขนงได้มาก ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้นหรือเป็นเกลียว โดยออกเป็นกระจุก ๆ ละ 4 ใบตามโคนต้น เปลี่ยนรูปแบบโครงสร้างของใบเป็นรูปเส้นเล็ก ๆ ยาวราว 2-4 ซม. มีอวัยวะจับแมลงออกตามซอกใบ เป็นกระเปาะขนาดเล็กจิ๋ว รูปไข่เบี้ยว เป็นจำนวนมาก เพื่อไว้ดักจับแมลงเล็ก ๆ และจะทำงานได้ดีเมื่ออยู่ใต้น้ำเท่านั้น กลไกบนกระเปาะดักจับแมลงมีความน่าทึ่งมาก ซึ่งตรงปากทางเข้าออกของกระเปาะจะมีเส้นขนที่ทำหน้าที่เหมือนสลักกับดัก เมื่อมีเหยื่อประเภทตัวอ่อน แมลงในน้ำ หรือไรน้ำตัวเล็ก ๆ ว่ายมาโดนสลักก็จะทำให้ปากกระเปาะเปิดออก แล้วเกิดแรงดึงดูดอย่างแรงและเร็วเพื่อดูดแมลงให้เข้าไปในกระเปาะก่อนที่มันจะหนีได้ทัน ในที่สุดแมลงเหล่านั้นก็จะกลายเป็นอาหารของพืชพิสดารชนิดนี้ด้วยการปล่อยน้ำย่อยออกมาย่อยเหยื่อกลายเป็นธาตุอาหารหล่อเลี้ยงต้นต่อไป ก้านกระเปาะยาว 0.1-0.4 ซม. ดอก มีลักษณะเป็นช่อดอก ชูช่อขึ้นมาเหนือผิวน้ำ ก้านช่อดอกยาวราว 5-25 ซม. ช่อละ 4-8 ดอก ดอกสีเหลืองสด โคนกลีบดอกติดกัน ปลายแยกเป็น 2 กลีบและมีขนปกคลุม กลีบบนรูปกลมเรียบและมีลายเส้นสีน้ำตาลแดงที่โคน กลีบล่างมีขนาดใหญ่กว่า บริเวณโคนดอกเป็นจงอยกลีบยื่นออกมาเป็นรูปเดือยปลายแหลม ออกดอกตลอดปี แต่มีมากในราวเดือน ส.ค. - ธ.ค. ผลค่อนข้างกลม ขนาด 0.5 ซม. มีกลีบเลี้ยงติดอยู่คงทน ผลเป็นผลแห้งแก่แล้วแตกออก มีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดเป็นรูปห้าเหลี่ยมค่อนข้างแบน สีน้ำตาลอ่อน ขนาด 0.15-0.2 ซม. ในประเทศไทย พบขึ้นอยู่ในนาข้าว บ่อเลี้ยงปลา หนองน้ำ ลำห้วยลำคลอง ตลอดจนแหล่งน้ำนิ่งหรือน้ำขังบนภูเขาสูงทั่วทุกภาค มีแหล่งกำเนิดและแพร่กระจายอยู่ในอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย