วันอังคารที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2552

มารู้จักพืชกินแมลงกันเถอะ

เป็นที่ทราบกันดีว่าพืชเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความพิเศษแตกต่างไปจากสัตว์โดยทั่วไปคือการดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องกินสิ่งมีชิวิตอื่นเป็นอาหาร ด้วยเหตุผลที่ว่าพืชสามารถสร้างอาหารได้เองโดยกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง (Photosynthesis) อาหารที่พืชสร้างขึ้นเป็นคาร์โบไฮเดรตซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของร่างกาย แต่นักเรียนทราบหรือไม่ว่าพืชบางกลุ่มมีความสามารถพิเศษในการจับสัตว์กินเป็นอาหาร ซึ่งจะทำให้พืชได้รับสารอาหารเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะโปรตีน และสัตว์โชคร้ายเหล่านั้นส่วนใหญ่มักเป็นแมลง(Insect) เราจึงเรียกพืชเหล่านี้ว่า พืชกินแมลง ส่วนที่ใช้ดักจับแมลงของพืชคือใบที่เปลี่ยนแปลงไปทำหน้าที่พิเศษที่นอกเหนือจากการสร้างอาหารนั่นเอง

นักเรียนรู้จักพืชกินแมลงชนิดใดบ้างไหมคะ มาดูกันหน่อยว่ามีอะไรบ้าง

1. ดุสิตา ชื่อวิทยาศาสตร์ Utricularia delphinioides Thor.ex Pell. ชื่อวงศ์ LENTIBULARIACEAE เป็นพืชล้มลุกกินแมลง ลำต้นขึ้นเป็นกอเล็ก สูง 10-20 ซม.สูงเต็มที่ไม่เกิน 25 ซม.อายุปีเดียว ใบเดี่ยวขนาดเล็ก ที่ข้อใกล้โคนต้นมีเส้นกลางใบ 1 เส้น พอได้ระยะหนึ่งจะมีใบเปลี่ยนเป็นม้วนกลมสำหรับเป็นกับดักจับแมลงเป็นอาหารหรือปุ๋ย ดอก สีม่วงเข้ม เป็นช่อดอกช่อเดียวแทงขึ้นจากโคนกอ ช่อดอกตั้งสูงประมาณ 5-20 ซม.แต่ละดอกมีดอกย่อย 3-5 ดอก ดอกย่อยออกเรียงสลับกัน ขนาดประมาณ 6-10 มม. กลีบดอกล่างแผ่ออกเป็น 2 ปาก ออกดอกช่วงเดือน กันยายนถึงธันวาคมผล เป็นผลแห้งชนิดแตกเมื่อแก่ รูปทรงรีคล้ายกับแคปซูล ด้านในมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก การขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและยกกอ พบที่อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย ในประเทศไทยพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ขึ้นตามบริเวณพื้นที่โล่ง สภาพดินชุ่มชื้นและแฉะ

2. มณีเทวา หรือ กระดุมเงิน ชื่อวิทยาศาสตร์ Eriocaulon smitinandii Moldenke เป็นไม้ล้มลุก ในวงศ์ ERIOCAULACEAE ลักษณะต้นเป็นกอขนาดเล็ก คล้ายหญ้าสูง 2-6 ซม. ใบเดี่ยว ขนาดเล็ก รูปขอบขนานแคบ เรียวแหลม เรียงเวียนเป็นวงที่โคนต้น ดอกสีขาว ออกเป็นช่อตั้งจากโคนกอ สูง 5-15 ซม. ที่ปลายยอดลักษณะเป็นก้อนกลม ขนาด0.3-0.8 ซม. ประกอบด้วยดอกย่อยขนาดเล็ก อัดกันแน่น ผล เป็นผลแห้ง ชนิดเมื่อแก่แล้วไม่แตก ในประเทศไทยพบตามบริเวณที่ชุ่มชื้นและแฉะ ในที่โล่งหรือชายป่าโปร่ง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ออกดอกในช่วงเดือน กันยายน- ธันวาคม

3. หม้อข้าวหม้อแกงลิง ชื่อวิทยาศาสตร์ Nepenthes mirabilis อยู่ในวงศ์ NEPENTHACEAE ลักษณะลำต้น มักขึ้นอยู่รวมกันเป็นกอหนาแน่น หรือถ้าเป็นต้นอ่อนจะขึ้นอยู่โดดเดี่ยว ลำต้นอาจเลื่อยไปตามพื้นดิน หรือเกาะไม้พุ่มขนาดเล็ก ใบเดี่ยว ยาว 12-18 เซนติเมตร ปลายใบเป็นกระเปาะคล้ายเยือก ยาว 10-15 เซนติเมตร กระเปาะเมื่อยังอ่อนฝาจะปิด เมื่อกระเปาะแก่ฝาจะเปิด กระเปาะมีหลายสี เช่น สีเขียว สีน้ำตาลอมแดง และสีเขียวปนแดงเรื่อๆ ภายในกระเปาะมีขนป้องกันแมลงที่ตกเข้าไป ไม่ให้ออกได้ อีกทั้งผิวกระเปาะยังมีรูเล็กๆจำนวนมากปล่อยน้ำย่อยออกมาขังไว้ในกระเปาะ เพื่อย่อยสลายแมลงเป็นอาหาร ดอก ออกเป็นช่อตามส่วนยอดของลำต้น ก้านช่อดอกยาว 50-100 เซนติเมตร ดอกเพศผู้และเพศเมียแยกอยู่กันคนละต้น จะออกดอกระหว่างเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม ลักษณะผล เป็นฝักที่มีเมล็ดเป็นจำนวนมากอยู่ภายใน ในไทยประเทศไทยส่วนใหญ่สามารถพบตามภูเขาหรือที่ราบลุ่มที่มีความชื้นพอประมาณ พบทั่วทุกภาค

4. กาบหอยแครง อาจเรียกแตกต่างกันตามท้องถิ่น เช่น ว่านกาบหอยแครง หรือ ว่านชักมดลูก ชื่อวิทยาศาสตร์ Tradescantia spathacea Sw. อยู่ในวงศ์ COMMELENACEAE เป็นพืชที่เจริญได้ดีในเขตร้อน เป็นไม้อวบน้ำ ลำต้นเจริญเป็นพุ่มสูง 20-60 ซม. ใบเดี่ยวออกเรียงสลับเป็นกาบหุ้มรอบต้น รูปใบคล้ายหอก ปลายแหลมโคนตัด ขอบใบเรียบ ยาว 15-45 ซม. แผ่นใบหนา ด้านบนสีเขียวเข้ม ใต้ใบสีม่วงแดง ไม่มีก้านใบ ดอกเป็นช่อดอกที่ซอกใบ มีใบประดับสีม่วงอมเขียว 2 อันประกอบกัน ลักษณะคล้ายเรือ ชอบแสงปานกลาง ทนแสงแดดจัด และทนแล้งได้ดี ใช้ประโยชน์โดยปลูกพืชคลุมดิน และใช้เป็นยาสมุนไพร โดยนำมาต้มปรุงเป็นยารักษาโรค ขยายพันธุ์โดยการปักชำ และแยกหน่อ
กาบหอยแครงเป็นพืชกินแมลงที่คนรู้จักมากที่สุดเพราะมีกับดักที่สามารถงับแมลงได้อย่างว่องไว บางทีก็ถูกเรียกเป็นเพชฌฆาตจอมโหด พิสูจน์ได้จากคลิปนี้ http://atcloud.com/stories/26702

5. หยาดน้ำค้าง เป็นพืชล้มลุกในวงศ์ CROSERACEAE ขนาดเล็ก ลักษณะของลำต้นจะขึ้นแนบตามพื้นดิน ใบเดี่ยว เป็นแผ่นรูปมนรี กว้าง 4 เซนติเมตร อัดกันแน่นเรียงซ้อนกันเป็นรูปวงกลมอวบอ้วน คล้ายกลีบดอกซ้อนกัน หนา 1.5-3 ซม. ใบอ่อนมีสีเขียว แผ่นใบเรียบจะมีขนเล็กๆ สีแดงตามขอบใบจำนวนมาก ส่วนปลายใบจะมีน้ำหวานเหนียวๆ คล้ายกาวหยดเล็กๆ ไว้ดักจับแมลงเป็นอาหาร ดอก ออกเป็นช่อจากใจกลางของลำต้น เมื่อโตเต็มที่ดอกจะกว้าง 6 นิ้ว ยาว 5-15 ซม. ดอกจะบานสะพรั่งช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม ขยายพันธุ์โดย เพาะเมล็ด ปักชำกิ่ง ชอบดินร่วน ชอบขึ้นบริเวณทุ่งโล่งที่มีแสงแดดจัด ตามภูเขา ลานหินทราย ที่มีน้ำชื้นแฉะบริเวณริมธาร มักพบเห็นอยู่ทั่วไป แหล่งที่พบมากที่สุดในไทย คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในประเทศไทยพบหยาดน้ำค้างอยู่ 3 ชนิดคือ จอกบ่วาย (Drosera burmannii Vahl), หญ้าน้ำค้าง (Drosera indica L.) และ หญ้าไฟตะกาด (Drosera peltata Sm.)

6. สาหร่ายข้าวเหนียว อาจเรียกแตกต่างกันตามท้องถิ่น เช่น กาแหนเครือ, สายตีนกุ้ง, สาลี, สาหร่ายไข่ปู, สาหร่ายดอกเหลือง, สาหร่ายตีนกุ้ง, สาหร่ายนา และแหนเครือ ชื่อวิทยาศาสตร์ Utricularia aurea Lour. ลักษณะลำต้น เป็นไม้ล้มลุกจำพวกพืชน้ำ ลำต้นลอยอยู่ในน้ำ เป็นรูปอวบกลม สูง 10-15 ซม. และทอดยาวได้ถึง 1 เมตร รวมทั้งแตกแขนงได้มาก ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้นหรือเป็นเกลียว โดยออกเป็นกระจุก ๆ ละ 4 ใบตามโคนต้น เปลี่ยนรูปแบบโครงสร้างของใบเป็นรูปเส้นเล็ก ๆ ยาวราว 2-4 ซม. มีอวัยวะจับแมลงออกตามซอกใบ เป็นกระเปาะขนาดเล็กจิ๋ว รูปไข่เบี้ยว เป็นจำนวนมาก เพื่อไว้ดักจับแมลงเล็ก ๆ และจะทำงานได้ดีเมื่ออยู่ใต้น้ำเท่านั้น กลไกบนกระเปาะดักจับแมลงมีความน่าทึ่งมาก ซึ่งตรงปากทางเข้าออกของกระเปาะจะมีเส้นขนที่ทำหน้าที่เหมือนสลักกับดัก เมื่อมีเหยื่อประเภทตัวอ่อน แมลงในน้ำ หรือไรน้ำตัวเล็ก ๆ ว่ายมาโดนสลักก็จะทำให้ปากกระเปาะเปิดออก แล้วเกิดแรงดึงดูดอย่างแรงและเร็วเพื่อดูดแมลงให้เข้าไปในกระเปาะก่อนที่มันจะหนีได้ทัน ในที่สุดแมลงเหล่านั้นก็จะกลายเป็นอาหารของพืชพิสดารชนิดนี้ด้วยการปล่อยน้ำย่อยออกมาย่อยเหยื่อกลายเป็นธาตุอาหารหล่อเลี้ยงต้นต่อไป ก้านกระเปาะยาว 0.1-0.4 ซม. ดอก มีลักษณะเป็นช่อดอก ชูช่อขึ้นมาเหนือผิวน้ำ ก้านช่อดอกยาวราว 5-25 ซม. ช่อละ 4-8 ดอก ดอกสีเหลืองสด โคนกลีบดอกติดกัน ปลายแยกเป็น 2 กลีบและมีขนปกคลุม กลีบบนรูปกลมเรียบและมีลายเส้นสีน้ำตาลแดงที่โคน กลีบล่างมีขนาดใหญ่กว่า บริเวณโคนดอกเป็นจงอยกลีบยื่นออกมาเป็นรูปเดือยปลายแหลม ออกดอกตลอดปี แต่มีมากในราวเดือน ส.ค. - ธ.ค. ผลค่อนข้างกลม ขนาด 0.5 ซม. มีกลีบเลี้ยงติดอยู่คงทน ผลเป็นผลแห้งแก่แล้วแตกออก มีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดเป็นรูปห้าเหลี่ยมค่อนข้างแบน สีน้ำตาลอ่อน ขนาด 0.15-0.2 ซม. ในประเทศไทย พบขึ้นอยู่ในนาข้าว บ่อเลี้ยงปลา หนองน้ำ ลำห้วยลำคลอง ตลอดจนแหล่งน้ำนิ่งหรือน้ำขังบนภูเขาสูงทั่วทุกภาค มีแหล่งกำเนิดและแพร่กระจายอยู่ในอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น